งานวัดกำเเพง

02-415-0922
02-415-0922

การบูรณปฎิสังขรณ์วัดสว่างอารมณ์ครั้งที่ ๑

เศียรพระพุทธรูปหินทราย ที่ถูกค้นพบ

ผู้เขียนได้พยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทรายอยู่ระยะหนึ่ง แล้วนำความรู้ที่ได้มาตรวจสอบดูเศียรพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทรายแดงและหินทรายสีเทา ที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ในเวลานี้ ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปทรงเครื่องสวมเทริดก็มี ที่ไม่มีทรงเครื่องก็มี ได้พบแต่เศียรเท่านั้นไม่ทราบองค์พระ (ส่วนลำตัวตั้งแต่อังสะ (บ่า) ลงมาจนพระบาทหายไปไหนหมด) ก็ได้แต่นึกสงสัยอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ดีหลวงพ่อโตในวิหารพอจะเป็นเครื่องยืนยัน เป็นหลักฐานในการศึกษาได้ว่าท่านเป็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทรายแดง และพระที่ทำด้วยหินทรายนั้นมีการสร้างกันมาก่อนรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง แต่ว่ามานิยมสร้างกันมากในสมัยของพระองค์ท่าน พระเจ้าปราสาททองครองราชย์อยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๒ ถึง พ.ศ.๒๑๙๘ ได้พูดมาแล้วในตอนที่พม่าส่งกองทัพเข้ายึดลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นนทบุรีตลอดไปจนถึงเมืองธนบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๖ อันเป็นช่วงเวลาที่วัดสว่างอารมณ์รกร้าง ครั้นต่อมามีบุคคลใจบุญได้ทำการปฎิสังขรณ์วัดสว่างอารมณ์ขึ้น ในระหว่างรัชกาลของพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นช่วงที่นิยมสร้างพระที่ทำด้วยหินทราย วัดสว่างอารมณ์เป็นวัดร้างอยู่ประมาณ ๖๗ ปี (๒๑๗๒ – ๒๑๐๖)

 เศียรพระหินทรายทั้งหมดที่ทางวัดเก็บรักษาไว้นั้น ผู้เขียนได้เอาขึ้นมาจากห้องใต้ดินของพระปรางค์ที่ได้รับการบูรณะเป็นศรีสง่าตระหง่านอยู่เวลานี้ การที่เข้าไปห้องใต้ดินได้ ก็เนื่องมาจากผู้ร้ายเจาะเข้าไปขโมยของมีค่าในห้องใต้ดินมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เข้าไปได้เพียงห้องแรกเท่านั้น ส่วนห้องอื่นเข้าไปไม่ได้เพราะช่องที่คนร้ายเจาะไว้แคบมาก จึงให้หลานชายเข้าไปส่องไฟดูไม่เห็นของมีค่าอะไร นอกจากเศียรพระพุทธรูปหินทรายวางอยู่ห้องละเศียร ผู้เขียนจึงอาราธนาเอาขึ้นมาบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและคนอื่นที่กราบไหว้บูชาท่าน จากการประกอบกรรมดีด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ผู้เขียนจึงมีความสุขได้ตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับ

 เศียรพระหินทรายได้มอบให้ทางวัดเก็บรักษาไว้ทั้งหมด รวมทั้งวัตถุสิ่งของอื่นที่ได้ซื้อหามาก็ได้มอบให้แก่ทางวัดไปพร้อมๆ กัน แต่ห้องใต้ดินของพระปรางค์ยังมีอยู่อีกห้องหนึ่ง คือห้องทางทิศตะวันออกที่ผู้ร้ายไม่ได้เจาะเข้าไป จึงไม่ทราบว่าห้องนั้นมีอะไรอยู่บ้าง  การที่ผู้สร้างพระปรางค์เอาเศียรพระหินทรายเอาไปเก็บไว้ในห้องใต้ดิน เค้าคงอเนจอนาถใจที่เห็นเศียรพระตกหล่นอยู่เกลื่อนกลาดเช่นนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้

บริเวณบ่อน้ำ โบสถ์ พระปรางค์ ในอดีต
บริเวณโบสถ์เก่าและพระปรางค์
บริเวณโบสถ์เก่าและพระปรางค์ อดีตและปัจจุบัน จุดเดิมต่างวันเวลา

พระพุทธรูปประธานในโบสถ์ และพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร อัครสาวกทั้งสอง ซึ่งล้วนแต่สร้างด้วยปูนปั้นทั้งหมด ฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา งดงามพอใช้ พระประธานมีพระเนตรดำขลับราวกับว่าท่านมีชีวิต พระพุทธและข้าวของอื่นๆ ถูกโครงหลังคาพังทับลงมาไม่มีเหลือชิ้นดีแม้แต่น้อย ปัจจุบัน นายเปล่ง โพธิ์สุข ได้นำเอาต้นโพธิ์ลังกามาปลูกไว้ ตรงหลุมลูกนิมิตหน้าพระประธาน เพื่อเป็นที่หมายให้รู้ว่าบริเวณที่ปลูกต้นโพธิ์นั้นเคยมีโบสถ์ปลูกสร้างอยู่ก่อน

การก่อสร้างพระปรางค์ ผู้ใจบุญได้ก่อสร้างไว้ระหว่างโบสถ์กับวิหาร มีความสูงจากพื้นดินถึงปลายยอดเพกาประมาณ ๑๒ วาเห็นจะได้ ด้านหน้ามีบันได ๒ ข้าง คล้ายเอาบันไดเกยสองตัวมาต่อกัน ขั้นบันไดทั้งสองจะไปบรรจบกันที่ฐานไพที (บางทีเรียกว่าฐานทักษิณซึ่งหมายถึงทางเดินเวียนขวาแสดงความเครารพปูชนียวัตถุที่บรรจุอยู่ภายในพระปรางค์) ฐานไพทีที่กล่าวนี้เป็นทางเดินแคบๆ องค์พระปรางค์มีซุ้มจระนำ ๔ ทิศ ยอดบนสุดมีฝักเพกาทำด้วยสัมฤทธิ์ ผู้ร้ายได้พยายามจะขโมยไปหลายครั้งหลายหน แต่เอาไปไม่ได้

       ต่อมาชำรุดทรุดโทรมมาก ฐานไพทีหักพังจนเดินไม่ได้ ยอดฝักเพกาหลุดล่วงลงมา ต้นไม้ขึ้นตามรอยแตกร้าวหลายแห่งด้วยกัน ปัจจุบันนี้ ท่านพระครูเกษมธรรมาภินันท์ (เผื่อน สังข์คุ้ม) ทำการบูรณะซ่อมแซมให้มีสภาพใกล้เคียงกับของเดิมเท่าที่จะพึงทำได้ เป็นการอนุรักษ์ศิลปะดั้งเดิมเอาไว้เป็นมรดกแก่อนุชนต่อไป