๒. วัดสว่างอารมณ์ร้างครั้งแรก
จากการสังเกตดูวัตถุเสนาสนะสิ่งก่อสร้างที่มีเหลืออยู่เป็นหลักฐาน ประกอบกับการศึกษาค้นคว้า หนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม เพื่อต้องการจะทราบว่าวัดสว่างอารมณ์รกร้างครั้งแรกนั้น ด้วยสาเหตุใด อยู่ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์องค์ใดบ้าง การที่วัดจะรกร้างนั้นจะต้องเกิดเหตุภัยร้ายแรงมาก เป็นต้นว่าเกิดโรคระบาดร้ายแรง ผู้คนล้มตายมากมายถึงขนาดละทิ้งที่อยู่อาศัยไปหาที่อยู่ใหม่ในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลออกไป จำเป็นต้องทิ้งวัดวาอารามให้รกร้างว่างเปล่า แม้แต่เมืองก็เคยถูกทิ้งรกร้างมาแล้ว (เมืองอู่ทอง เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสุวรรณภูมิ เกิดโรคห่าระบาดผู้คนล้มตายกันมากมาย ถึงต้องกับทิ้งเมืองไปหาที่อยู่ใหม่) จาการตรวจดูประวัติศาสตร์ ก็ไม่พบว่ามีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้นในท้องที่แต่อย่างใด
ด้วยอยากรู้ถึงสาเหตุที่วัดต่างๆ รกร้างมากมาย แม้จนทุกวันนี้ยังมีอยู่ถึง ๖ วัดด้วยกัน (๑.วัดป่าบางประทุน ๒.วัดนากริมคลองสนามไชย ๓.วัดสี่บาท อยู่ปากคลองสี่บาท เยื้องหน้าวัดกก ๔.วัดร้างบางบอน อยู่ใกล้วัดสิงห์ และวัดกำแพง ติดทางรถไฟทางทิศเหนือ ติดคลองบางบอนทางทิศใต้ ๕.วัดใหม่กลางคลองหรือวัดหลวงพ่อขาว ติดถนนเอกชัย ๖.วัดน้อยอยู่บนฝั่งคลองบางโคลัด และคลองรางพรานมาบรรจบกัน เวลานี้มีพระมาอาศัยอยู่ มีป้ายที่ถนนกำนันแม้นบอกใหม่ว่าวัดน้อยรัตนาราม)
จึงได้พยายามค้นคว้าเรื่อยมา ในที่สุดจึงทราบว่าใน พ.ศ. ๒๑๐๖ พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ขณะที่กรุงศรีอยุธยาทำศึกติดพันอยู่นั้น พม่าได้ส่งกองทัพรักษาลำแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่นนทบุรีไปจนถึงกรุงธนบุรี เพื่อตัดกำลังชาวกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต้องอาศัยอาวุธจากต่างประเทศ ในระยะเวลาดังกล่าวตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งทำสงครามกับพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า พระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเป็นเมืองระดมพลอื่นๆ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่มาหลายเมือง พระองค์เกณฑ์เอากำลังพลและเสบียงอาหารเข้าไปไว้ในกรุงศรีอยุธยา
ด้วยสาเหตุดังกล่าวมา เมืองธนบุรีจึงเป็นเมืองรกร้างว่างเปล่า ผู้คนที่หลงเหลืออยู่บ้างก็คงจะหนีเอาตัวรอดเข้ารกเข้าป่าไป พม่าข้าศึกจึงยึดเอาเมืองธนบุรีได้โดยง่าย และทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพม่าหาได้คำนึงบาปบุญคุณโทษแม้แต่น้อย ประเทศไทยได้ทำสงครามกับพม่าตลอดรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระมหินทราธิราช แม้จะมีช่วงสั้นๆเกี่ยวกับการทำข้อตกลงอยู่ ๑-๒ ครั้ง โดยเนื้อแท้แล้วคือระยะของศึกสงครามนั้นเอง ครั้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นพม่าอยู่ระยะหนึ่ง และในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็เต็มไปด้วยสงคราม
ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในระหว่าง พ.ศ.๒๑๐๖ ถึง พ.ศ.๒๑๓๓ เป็นเวลาถึง ๓๐ ปี นับว่าบ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในภาวะวิกฤต วัดสว่างอารมณ์และวัดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วต้องกลายเป็นวัดรกร้างไปเพราะขาดคนอุปการะ พระภิกษุสามเณรก็ไม่สามารถดำรงสมณสารูปอยู่ได้ เสนาสนะขาดการบูรณะซ่อมแซม วัดสว่างอารมณ์เป็นวัดหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพวัดร้างตั้งแต่นั้นมา