ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติของวัดกำเเพง เเละประวัติของหลวงปูไปล่ใคร่ที่จะกล่าวถึงความเป็นมาของวัดกำเเพงเสียก่อน เพราะหลวงปูไปล่มีความใกล้ชิดกับวัดกำเเพงเป็นอย่างมาก จนเกือบจะกล่าวได้ว่าหลวงปูเเละวัดกำเเพงต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของกันเเละกัน เพราะวัดกำเเพงต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของกันเเละกัน เพราะท่านทำทุกอย่างของวัดกำเเพงหรือชาววัดกำเเพงตลอดชีวิตของท่าน
วัดกำเเพงในปัจจุบันเป็นวัดขนาดกลาง ตังอยู่บนฝั่งตะวันตกของคลองสนามชัยในท้องที่หมู่ ๖ เเขวงเเสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จะขอกล่าวถึงความเป็นมาของวัดกำเเพงตามลำดับเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
วัดสว่างอารมณ์ วัดกำแพงของเรานี้ตามที่ได้สดับรับฟังมาจากผู้ที่มีอายุมากหลายท่าน แม้แต่หลวงปู่ไปล่เองท่านก็เคยบอกเล่ากับผู้เขียนว่า “วัดกำแพงของเรานี้แต่เดิมมีชื่อว่าวัดสว่างอารมณ์มาก่อน” วัดสว่างอารมณ์ที่กล่าวถึงนี้ เราไม่สามารถจะทราบได้ว่าผู้ใดเป็นคนสร้างและได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด จากการสันนิษฐานของผู้ที่มีความรู้ทางโบราณคดีได้กล่าวชี้แจงไว้อย่างน่ารับฟังว่า “จากการสังเกตดูวัตถุและอาคารสถานที่ซึ่งมีอยู่ในวัดพอจะทราบได้ว่า วัดนี้เคยรกร้างมาแล้วอย่างน้อย ๒ ครั้ง ดังจะเห็นได้ว่ามณฑปและวิหาร (เมื่อมณฑปยังไม่ปรักหักพัง) นั้นได้สร้างอยู่บนเนินของซากอาคารสถานที่ปรักหักพังอยู่ก่อนแล้วเป็นเวลานานปี ถ้าต้องการทราบว่าอาคารดั้งเดิมนั้นคืออะไร จะต้องทำการขุดแต่งตามหลักวิชาทางโบราณคดี ก็จะทราบได้พอสมควรที่จะบอกได้ว่าเป็นอะไร แต่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก”
มณฑปนี้ผู้สร้างมีเจตจำนงต้องการประดิษฐาน ภาพเขียนพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นพระบูชาประจำตัวของผู้เกิดวันจันทร์ ผู้สร้างมณฑปคงจะเกิดวันจันทร์ หรืออาจจะสร้างอุทิศกุศลผลบุญให้แก่บุคคลที่เขามีความเคารพรัก ซึ่งเกิดในวันดังกล่าว ก็เคยเห็นมีเค้าทำกัน ภาพพระพุทธรูปปางประทับยืน พระหัตถ์ทั้งสองออกแบบเสมอพระอุระเขียนติดอยู่กับฝาผนังมณฑปใช้สีแดงเขียนเกือบทั้งองค์ มีสีดำสีทองปนอยู่เพียงบางส่วน ดูแล้วกลมกลืนกันดีมาก ส่วนภาพประกอบหลังองค์พระมีต้นไม้ ดอกไม้ และนก ทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม นับว่าเป็นภาพหาดูไม่ได้อีกแล้ว
ส่วนการก่อสร้างวิหารนั้นก็คงสร้างอยู่บนเนินสูง ศาสนสถานที่ปรักหักพังมาก่อนอีกเช่นกันกับมณฑป แต่อยู่ด้านหน้าหรืออยู่ทางทิศตะวันออกของมณฑป (เนินสูงที่ก่อสร้างมณฑปและวิหารนี้ค่อนข้างสูงมาก ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ซึ่งเป็นปีที่น้ำท่วมมาก แต่น้ำไม่ท่วม จึงเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านหลายครอบครัวรวมทั้งวัวควาย ได้อาศัยพักพิง) วิหารที่สร้างในครั้งนั้นยังอยู่จนทุกวันนี้เป็นวิหารขนาดย่อม สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา เพดานไม้ทาสีเทาอมดำ มีภาพดารกหรืออาจจะเป็นดอกจันสีทองซึ่งดูไม่ใคร่ชัดเจนนัก ตรงกลางของดอกจันบางดอกมีขอห้อยโซ่ มีโคมแก้วแขวนอยู่เพื่อจุดบูชาในวันสำคัญทางศาสนา
ภายในวิหารหลังนี้แต่เดิมมีเพียงหลวงพ่อโตองค์เดียวเท่านั้น เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยหินทรายแดงปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก สูง ๖ ศอกเศษ เศียรสูงจรดเพดานวิหาร ชานุ (เข่า) ทั้งสองข้างเกือบจรดฝาผนัง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีทางเข้าออกและทางทิศใต้ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกไปพอสวยงาม สันนิษฐานว่า
“พระพุทธรูปนี้คงจะได้ก่อสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กันกับเมื่อครั้งปลูกสร้างเสนาสนะวัดสว่างอารมณ์ครั้งแรก ทั้งเข้าใจแน่ว่าจะเป็นพระประธานในโบสถ์มาก่อนก็อาจจะเป็นไปได้ ผู้ที่มาปฏิสังขรณ์คงจะอเนจอนาถใจที่เห็นท่านต้องตากแดดตากฝนอยู่ จึงได้จัดสร้างวิหารถวายให้ หลังจากการสร้างโบสถ์” (หลังเก่าซึ่งปรักหักพังไปแล้ว ซึ่งจะได้กล่าวให้ละเอียดในภายหลัง) และพระปรางค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว วิหารที่กล่าวถึงนี้ ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ ด้วยการควบคุมดูแลของท่านพระครูเกษมธรรมาภินันท์ (เผื่อน สังข์คุ้ม) มีผิดแผกไปจากของเดิมบ้าง เช่นกำแพงแก้วทำเป็นรูปใบเสมา ซึ่งของเดิมเป็นกำแพงแก้วเรียบๆ ทับหลังย่อมุมเท่านั้นเอง
จากการสังเกตดูวัตถุเสนาสนะสิ่งก่อสร้างที่มีเหลืออยู่เป็นหลักฐาน ประกอบกับการศึกษาค้นคว้า หนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม เพื่อต้องการจะทราบว่าวัดสว่างอารมณ์รกร้างครั้งแรกนั้น ด้วยสาเหตุใด อยู่ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์องค์ใดบ้าง การที่วัดจะรกร้างนั้นจะต้องเกิดเหตุภัยร้ายแรงมาก เป็นต้นว่าเกิดโรคระบาดร้ายแรง ผู้คนล้มตายมากมายถึงขนาดละทิ้งที่อยู่อาศัยไปหาที่อยู่ใหม่ในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลออกไป จำเป็นต้องทิ้งวัดวาอารามให้รกร้างว่างเปล่า แม้แต่เมืองก็เคยถูกทิ้งรกร้างมาแล้ว (เมืองอู่ทอง เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสุวรรณภูมิ เกิดโรคห่าระบาดผู้คนล้มตายกันมากมาย ถึงต้องกับทิ้งเมืองไปหาที่อยู่ใหม่) จาการตรวจดูประวัติศาสตร์ ก็ไม่พบว่ามีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้นในท้องที่แต่อย่างใด
ด้วยอยากรู้ถึงสาเหตุที่วัดต่างๆ รกร้างมากมาย แม้จนทุกวันนี้ยังมีอยู่ถึง ๖ วัดด้วยกัน (๑.วัดป่าบางประทุน ๒.วัดนากริมคลองสนามไชย ๓.วัดสี่บาท อยู่ปากคลองสี่บาท เยื้องหน้าวัดกก ๔.วัดร้างบางบอน อยู่ใกล้วัดสิงห์ และวัดกำแพง ติดทางรถไฟทางทิศเหนือ ติดคลองบางบอนทางทิศใต้ ๕.วัดใหม่กลางคลองหรือวัดหลวงพ่อขาว ติดถนนเอกชัย ๖.วัดน้อยอยู่บนฝั่งคลองบางโคลัด และคลองรางพรานมาบรรจบกัน เวลานี้มีพระมาอาศัยอยู่ มีป้ายที่ถนนกำนันแม้นบอกใหม่ว่าวัดน้อยรัตนาราม)
จึงได้พยายามค้นคว้าเรื่อยมา ในที่สุดจึงทราบว่าใน พ.ศ. ๒๑๐๖ พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ขณะที่กรุงศรีอยุธยาทำศึกติดพันอยู่นั้น พม่าได้ส่งกองทัพรักษาลำแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่นนทบุรีไปจนถึงกรุงธนบุรี เพื่อตัดกำลังชาวกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต้องอาศัยอาวุธจากต่างประเทศ ในระยะเวลาดังกล่าวตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งทำสงครามกับพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า พระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเป็นเมืองระดมพลอื่นๆ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่มาหลายเมือง พระองค์เกณฑ์เอากำลังพลและเสบียงอาหารเข้าไปไว้ในกรุงศรีอยุธยา
ด้วยสาเหตุดังกล่าวมา เมืองธนบุรีจึงเป็นเมืองรกร้างว่างเปล่า ผู้คนที่หลงเหลืออยู่บ้างก็คงจะหนีเอาตัวรอดเข้ารกเข้าป่าไป พม่าข้าศึกจึงยึดเอาเมืองธนบุรีได้โดยง่าย และทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของพม่าหาได้คำนึงบาปบุญคุณโทษแม้แต่น้อย ประเทศไทยได้ทำสงครามกับพม่าตลอดรัชกาลของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระมหินทราธิราช แม้จะมีช่วงสั้นๆเกี่ยวกับการทำข้อตกลงอยู่ ๑-๒ ครั้ง โดยเนื้อแท้แล้วคือระยะของศึกสงครามนั้นเอง ครั้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นพม่าอยู่ระยะหนึ่ง และในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็เต็มไปด้วยสงคราม
ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในระหว่าง พ.ศ.๒๑๐๖ ถึง พ.ศ.๒๑๓๓ เป็นเวลาถึง ๓๐ ปี นับว่าบ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในภาวะวิกฤต วัดสว่างอารมณ์และวัดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วต้องกลายเป็นวัดรกร้างไปเพราะขาดคนอุปการะ พระภิกษุสามเณรก็ไม่สามารถดำรงสมณสารูปอยู่ได้ เสนาสนะขาดการบูรณะซ่อมแซม วัดสว่างอารมณ์เป็นวัดหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพวัดร้างตั้งแต่นั้นมา
ผู้เขียนได้พยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทรายอยู่ระยะหนึ่ง แล้วนำความรู้ที่ได้มาตรวจสอบดูเศียรพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทรายแดงและหินทรายสีเทา ที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ในเวลานี้ ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปทรงเครื่องสวมเทริดก็มี ที่ไม่มีทรงเครื่องก็มี ได้พบแต่เศียรเท่านั้นไม่ทราบองค์พระ (ส่วนลำตัวตั้งแต่อังสะ (บ่า) ลงมาจนพระบาทหายไปไหนหมด) ก็ได้แต่นึกสงสัยอยู่ตลอดมาจนทุกวันนี้
อย่างไรก็ดีหลวงพ่อโตในวิหารพอจะเป็นเครื่องยืนยัน เป็นหลักฐานในการศึกษาได้ว่าท่านเป็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทรายแดง และพระที่ทำด้วยหินทรายนั้นมีการสร้างกันมาก่อนรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง แต่ว่ามานิยมสร้างกันมากในสมัยของพระองค์ท่าน พระเจ้าปราสาททองครองราชย์อยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๒ ถึง พ.ศ.๒๑๙๘ ได้พูดมาแล้วในตอนที่พม่าส่งกองทัพเข้ายึดลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นนทบุรีตลอดไปจนถึงเมืองธนบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๖ อันเป็นช่วงเวลาที่วัดสว่างอารมณ์รกร้าง ครั้นต่อมามีบุคคลใจบุญได้ทำการปฎิสังขรณ์วัดสว่างอารมณ์ขึ้น ในระหว่างรัชกาลของพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นช่วงที่นิยมสร้างพระที่ทำด้วยหินทราย วัดสว่างอารมณ์เป็นวัดร้างอยู่ประมาณ ๖๗ ปี (๒๑๗๒ – ๒๑๐๖)
เศียรพระหินทรายทั้งหมดที่ทางวัดเก็บรักษาไว้นั้น ผู้เขียนได้เอาขึ้นมาจากห้องใต้ดินของพระปรางค์ที่ได้รับการบูรณะเป็นศรีสง่าตระหง่านอยู่เวลานี้ การที่เข้าไปห้องใต้ดินได้ ก็เนื่องมาจากผู้ร้ายเจาะเข้าไปขโมยของมีค่าในห้องใต้ดินมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เข้าไปได้เพียงห้องแรกเท่านั้น ส่วนห้องอื่นเข้าไปไม่ได้เพราะช่องที่คนร้ายเจาะไว้แคบมาก จึงให้หลานชายเข้าไปส่องไฟดูไม่เห็นของมีค่าอะไร นอกจากเศียรพระพุทธรูปหินทรายวางอยู่ห้องละเศียร ผู้เขียนจึงอาราธนาเอาขึ้นมาบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและคนอื่นที่กราบไหว้บูชาท่าน จากการประกอบกรรมดีด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ผู้เขียนจึงมีความสุขได้ตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับ
เศียรพระหินทรายได้มอบให้ทางวัดเก็บรักษาไว้ทั้งหมด รวมทั้งวัตถุสิ่งของอื่นที่ได้ซื้อหามาก็ได้มอบให้แก่ทางวัดไปพร้อมๆ กัน แต่ห้องใต้ดินของพระปรางค์ยังมีอยู่อีกห้องหนึ่ง คือห้องทางทิศตะวันออกที่ผู้ร้ายไม่ได้เจาะเข้าไป จึงไม่ทราบว่าห้องนั้นมีอะไรอยู่บ้าง การที่ผู้สร้างพระปรางค์เอาเศียรพระหินทรายเอาไปเก็บไว้ในห้องใต้ดิน เค้าคงอเนจอนาถใจที่เห็นเศียรพระตกหล่นอยู่เกลื่อนกลาดเช่นนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้
พระพุทธรูปประธานในโบสถ์ และพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร อัครสาวกทั้งสอง ซึ่งล้วนแต่สร้างด้วยปูนปั้นทั้งหมด ฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยา งดงามพอใช้ พระประธานมีพระเนตรดำขลับราวกับว่าท่านมีชีวิต พระพุทธและข้าวของอื่นๆ ถูกโครงหลังคาพังทับลงมาไม่มีเหลือชิ้นดีแม้แต่น้อย ปัจจุบัน นายเปล่ง โพธิ์สุข ได้นำเอาต้นโพธิ์ลังกามาปลูกไว้ ตรงหลุมลูกนิมิตหน้าพระประธาน เพื่อเป็นที่หมายให้รู้ว่าบริเวณที่ปลูกต้นโพธิ์นั้นเคยมีโบสถ์ปลูกสร้างอยู่ก่อน
การก่อสร้างพระปรางค์ ผู้ใจบุญได้ก่อสร้างไว้ระหว่างโบสถ์กับวิหาร มีความสูงจากพื้นดินถึงปลายยอดเพกาประมาณ ๑๒ วาเห็นจะได้ ด้านหน้ามีบันได ๒ ข้าง คล้ายเอาบันไดเกยสองตัวมาต่อกัน ขั้นบันไดทั้งสองจะไปบรรจบกันที่ฐานไพที (บางทีเรียกว่าฐานทักษิณซึ่งหมายถึงทางเดินเวียนขวาแสดงความเครารพปูชนียวัตถุที่บรรจุอยู่ภายในพระปรางค์) ฐานไพทีที่กล่าวนี้เป็นทางเดินแคบๆ องค์พระปรางค์มีซุ้มจระนำ ๔ ทิศ ยอดบนสุดมีฝักเพกาทำด้วยสัมฤทธิ์ ผู้ร้ายได้พยายามจะขโมยไปหลายครั้งหลายหน แต่เอาไปไม่ได้
ต่อมาชำรุดทรุดโทรมมาก ฐานไพทีหักพังจนเดินไม่ได้ ยอดฝักเพกาหลุดล่วงลงมา ต้นไม้ขึ้นตามรอยแตกร้าวหลายแห่งด้วยกัน ปัจจุบันนี้ ท่านพระครูเกษมธรรมาภินันท์ (เผื่อน สังข์คุ้ม) ทำการบูรณะซ่อมแซมให้มีสภาพใกล้เคียงกับของเดิมเท่าที่จะพึงทำได้ เป็นการอนุรักษ์ศิลปะดั้งเดิมเอาไว้เป็นมรดกแก่อนุชนต่อไป
เนื่องมาจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองธนบุรีถูกพม่ายึดครอง และตราตั้งยายทองอินซึ่งเป็นคนไทยให้เป็นนายด่าน คอยเก็บทรัพย์สิ่งของและเสบียงอาหารส่งไปให้พม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น กรุงศรีอยุธยา เพื่อจะส่งต่อไปยังประเทศพม่าอีกต่อหนึ่ง ไม่เพียงวัดสว่างอารมณ์จะรกร้างเท่านั้น วัดอื่นๆ ต่างก็รกร้างไปตามๆกัน บรรดาผู้คนที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลย เป็นจำนวนมากที่หนีหลบซ่อนพม่าไปได้ก็อดอยาก เจ็บไข้ได้ป่วยล้มตายเสียเป็นอันมาก เรือกสวนไร่นาต้องทิ้งรกร้างว่างเปล่าอยู่เป็นเวลานาน แม้ว่าผู้คนที่เหลืออยู่ก็ไม่มีมากนัก ทั้งอดอยากยากจน ทรัพย์สิ่งของที่พม่าเอาไปไม่ได้ก็เผาทำลายเสียจนเกือบหมดสิ้น จึงไม่สามารถจะบูรณปฎิสังขรณ์วัดต่างๆ ให้ดีดังเดิมได้จึงต้องปล่อยให้รกร้างต่อไป
เนื่องมาจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เมืองธนบุรีถูกพม่ายึดครอง และตราตั้งยายทองอินซึ่งเป็นคนไทยให้เป็นนายด่าน คอยเก็บทรัพย์สิ่งของและเสบียงอาหารส่งไปให้พม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น กรุงศรีอยุธยา เพื่อจะส่งต่อไปยังประเทศพม่าอีกต่อหนึ่ง ไม่เพียงวัดสว่างอารมณ์จะรกร้างเท่านั้น วัดอื่นๆ ต่างก็รกร้างไปตามๆกัน บรรดาผู้คนที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลย เป็นจำนวนมากที่หนีหลบซ่อนพม่าไปได้ก็อดอยาก เจ็บไข้ได้ป่วยล้มตายเสียเป็นอันมาก เรือกสวนไร่นาต้องทิ้งรกร้างว่างเปล่าอยู่เป็นเวลานาน แม้ว่าผู้คนที่เหลืออยู่ก็ไม่มีมากนัก ทั้งอดอยากยากจน ทรัพย์สิ่งของที่พม่าเอาไปไม่ได้ก็เผาทำลายเสียจนเกือบหมดสิ้น จึงไม่สามารถจะบูรณปฎิสังขรณ์วัดต่างๆ ให้ดีดังเดิมได้จึงต้องปล่อยให้รกร้างต่อไป
ใน พ.ศ.๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฎิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ครั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงมีพระราชดำรัสให้มีการฉลองสมโภชน์ขึ้นป็นทางราชการ บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ต่างพากันเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์กันเป็นอันมาก หลวงพ่อคงเป็นพระภิกษุซึ่งบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดกำแพงบางจาก (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของเขตภาษีเจริญ) พร้อมด้วยญาติโยมและศิษย์ของท่านได้เดินทางมานมัสการพระปฐมเจดีย์กับเขาด้วย หลวงพ่อคงได้เดินทางมาตามคลองสนามไชย (ขณะนั้นยังไม่ได้ขุดคลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวกและคลองอื่นๆ) หลวงพ่อคงได้แวะจอดเรือค้างคืนที่หน้าวัดร้างสว่างอารมณ์ ท่านได้ขึ้นไปตรวจดูสภาพของวัดร้าง ท่านเห็นว่ายังมีเสนาสนะหลายอย่างยังมีสภาพดีอยู่ แม้ว่าจะชำรุดทรุดโทรมไปมากก็ตาม แต่ก็พอที่จะปฎิสังขรณ์ให้กลับมาเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ประกอบกิจพระศาสนาได้ดังเดิม เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฎิบางหลังเป็นต้น ทั้งมีหมู่บ้านบนหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บ้านหมู่ปากคลองบางบอน เพราะอยู่ใกล้กับปากคลองบางบอน ส่วนทางใต้ของวัดลงไปก็มีหมู่บ้านต้นหงอนไก่ เพราะมีต้นหงอนไก่ขนาดใหญ่มากขึ้นอยู่ริมคลองสนามชัยหน้าหมู่บ้าน
หลวงพ่อคงได้นำความคิดของท่านที่จะบูรณปฎิสังขรณ์วัดสว่างอารมณ์ ไปบอกเล่าแก่ญาติโยมที่ร่วมเดินทางมาด้วยให้ได้ทราบทั่วหน้ากัน หลายคนมีความเห็นสอดคล้องกับหลวงพ่อคง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือร่วมใจกับท่านในการบูรณปฎิสังขรณ์วัดสว่างอารมณ์ ให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่อาศัยจำพรรษาต่อไป ต่อมาเมื่อหลวงพ่อคงเดินทางกลับจากไปนมัสการพระปฐมเจดีย์แล้ว ท่านจึงเริ่มเดินทางมาซ่อมแซมบูรณปฎิสังขรณ์วัดสว่างอารมณ์ พร้อมด้วยญาติโยมศิษย์ของท่านจากวัดกำแพงบางจากส่วนหนึ่ง ร่วมกับบรรดาชาวบ้านที่อยู่ทางเหนือและใต้ของวัด ทุกคนต่างก็ให้ความร่วมมือหลวงพ่อคงเป็นอย่างดี
วัดสว่างอารมณ์ ซึ่งเป็นวัดรกร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อครั้งที่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกครั้งที่ ๒ จนถึง พ.ศ. ๒๓๙๖ ซึ่งเป็นปีที่หลวงพ่อคงเดินทางไปร่วมนมัสการพระปฐมเจดีย์ นับเป็นเวลาที่วัดสว่างอารมณ์รกร้างอยู่เป็นเวลา ๘๘ ปี บัดนี้การบูรณปฎิสังขรณ์ได้เริ่มขึ้นแล้ว สภาพการรกร้างค่อยๆ หมดไป กลับกลายมาเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่อาศัยประกอบศาสนากิจ ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
หลวงพ่อคงเมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสว่างอารมณ์ ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดต่อการปฎิบัติพระธรรมวินัย มีวัตรปฎิบัติสม่ำเสมอคงเส้นคงวา จึงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านเป็นอันมาก ทั้งท่านได้เปิดสำนักเรียน สอนหนังสือให้แก่เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆวัด และสอนให้แก่ผู้ที่ต้องการจะบวชเป็นพระภิกษุสามเณร ทั้งนี้เพื่อผู้อุปสมบทบรรพชาจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้งกว้างขวาง จากพระไตรปิฎกด้วยตนเองได้อีกด้วย หากพระเณรรูปใดมีปัญหา ท่านจะช่วยชี้แนะเป็นอย่างดี การที่หลวงพ่อคง ประพฤติปฏิบัติตนเคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัยเสมอต้นเสมอปลาย เป็นแบบอย่างที่ดีแก่บรรดาศิษย์และชาวบ้าน นับว่าเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา ประชาชน และประเทศชาติ ชาวบ้านก็ยิ่งมีความเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นตามลำดับ ชาวบ้านมักจะเรียกหลวงพ่อคงว่า “ท่านที่มาจากวัดกำแพง” ครั้นเรียกกันต่อมาว่า “ท่านวัดกำแพง” ในที่สุดก็เลยเรียกวัดนี้ว่า “วัดกำแพง” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้